โรคที่ไม่ติดต่อ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า non communicable disease, NCD, คือ โรคเรื้อรังที่เป็น ได้ในทุกวัย แต่มักจะพบได้มากในกลุ่มผู้สูงอายุ โรคที่พบบ่อยในกลุ่ม NCD คือ โรคหลอดเลือดหัวใจ และสมอง หรือ cerebrovascular diseases ซึ่ง เป็นสาเหตุใหญ่ของการเสียชีวิตจากกลุ่ม NCD คือ 17.5 ล้านคนทั่วโลก ตามด้วยโรคมะเร็ง (8.2 ล้านคน) โรคระบบทางเดินหายใจ (4 ล้านคน) และโรคเบาหวาน (1.5 ล้านบาท)
4 โรคนี้ เป็นสาเหตุถึง 82% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่เกิดจากโรค NCD โรค NCD ฆ่าคนตายปีละถึง 38 ล้านคน และที่สำคัญ คือ 3 ใน 4 (หรือ 28 ล้านคน) เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำหรือปานกลาง ซึ่งจะทำให้มีปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ เพิ่มยิ่งขึ้นไปอีกและ 16 ล้านคน ที่เสียชีวิตจากโรค NCD ตายก่อนอายุ 70 (ก่อนวัยอันควร) และ 82% ของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรนี้เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำ หรือปานกลาง
สาเหตุมาจากอะไร มาจากการมีอายุมากขึ้น การมีการเจริญเติบโตเร็วเกินไปของเมือง โดยไม่มีการวางแผน พฤติกรรมของมนุษย์ที่ไม่เหมาะสม เช่น การทานอาหารที่ไม่เหมาะสม การไม่ออกกำลังกาย ทำให้มีความดันโลหิตสูง ระดับน้ำตาล ไขมันในเลือดสูง และโรคอ้วน ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรค NCD ทั้งนั้น โดยเฉพาะโรคหัวใจ
ปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้คือการ(ไม่) สูบบุหรี่ คาดคะเนว่าการสูบบุหรี่ทำให้ประชาชนในโลกเสียชีวิตถึง 6 ล้านคนต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 8 ล้าน ในปี ค.ศ.2030 ประมาณ 3.2 ล้านคน เสียชีวิตจากการออกกำลังกายที่ไม่เพียงพอ และมากกว่าครึ่งหนึ่งของการเสียชีวิต 3.3 ล้านคน ที่ตายจากแอลกอฮอล์เกิดจากโรค NCD
ไม่น่าเชื่อ แต่ก็ต้องเชื่อ ในปี ค.ศ.2010 ประชาชน 1.7 ล้านคน ที่ตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจเกิดจากการทานเกลือ (sodium) มากเกินไป!
ทุกปัจจัยเสี่ยงที่ได้กล่าวมาจะทำให้เกิดความดันโลหิตสูง น้ำหนักเกินหรืออ้วน ระดับน้ำตาล ไขมันใน เลือดสูง ความดันโลหิตสูงอย่างเดียวเป็นสาเหตุการเสียชีวิต ของคนในโลกถึง 18% ส่วนโรคอ้วน(obese) น้ำหนักเกิน (over weight) และน้ำตาลสูง เป็นสาเหตุการตาย ที่รองลงมาตามลำดับ ประเทศที่มีรายได้น้อย และปานกลาง กำลังมีภาวะอ้วนในเด็กที่เพิ่มขึ้นเร็วมาก
โรค NCD มีผลต่อการพัฒนาของประเทศต่างๆ มาก ความยากจนมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับโรค NCD ผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากจน จะป่วยและเสียชีวิตเร็วกว่า ผู้ที่มีฐานะดี
ฉะนั้นการป้องกัน การดูแลสร้างเสริมสุขภาพ จึงมี ความสำคัญที่สุด ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ขึ้นอยู่กับตัวของประชาชนเอง ความรู้ที่ถูกต้อง ความมีวินัยที่ต้องปฏิบัติในสิ่งที่ถูกที่ควร ขึ้นอยู่กับสังคม ชุมชน รัฐบาล และเอกชน ที่จะช่วยแนะ สนับสนุน ให้โอกาส รวมทั้งการสร้างระบบสาธารณสุขที่ดี
สำหรับประชาชนนั้นมี 9 อย่าง เท่านั้นที่ต้องรู้ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อตนเอง และสอนครอบครัว นั่นก็คือ :
1. รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ
2. ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ โดยทั้ง 2 ข้อนี้ ต้องทำให้ BMI (BMI คือน้ำหนักตัว เป็นกิโลกรัม หารด้วยความสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง อยู่ที่ต่ำกว่า 23 ระหว่าง 23.1-24.9 จะเรียกว่า น้ำหนัก เกิน 25 ขึ้นไป จึงจะเรียกว่าอ้วน) และพุงชายหญิงอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ เล็กกว่า 90 ซม. และ 80 ซม. ตามลำดับ
3. ไม่สูบบุหรี่
4. ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ หรือ ดื่มไม่เกิน 2 หน่วย/วัน ไม่ว่าจะชายหญิง 1 หน่วย คือ 25 ซีซี ของวิสกี้ หรือ 80 ซีซี ของไวน์ หรือ 200 ซีซี ของเบียร์
5. มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย
6. ไม่ใช้ยาเสพติด
7. เดินสายกลางในชีวิต
8. ถึงแม้สบายดี ไปตรวจสุขภาพเป็นระยะ เช่น วัดความดัน ตรวจไขมัน น้ำตาลในเลือด
9. ถึงแม้ทำทั้งหมด 1 - 8 แต่พออายุเข้าเกณฑ์ เช่น อายุ 50 ปี ต้องไปตรวจคัดกรองหามะเร็งลำไส้ใหญ่ ฯลฯ
10. ถึงแม้ทำ 1 - 9 แต่ถ้ามีอาการต้องไปปรึกษาแพทย์
โดย pimchanok
วันที่ 25 เมษายน 2559
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า โดย นพ.พินิจ กุลละวณิชย์