โรคเมอร์ส ไวรัสเมอร์ส (Mers) คืออะไร?

โรคเมอร์ส ไวรัสเมอร์ส (Mers) คืออะไร

อาการ วิธีรักษา และวิธีป้องกันโรคไวรัสเมอร์ส (Mers) คืออะไร อาการ วิธีรักษา และวิธีป้องกันโรคไวรัสเมอร์ส

หมวดหมู่ : สุขภาพ, เรื่องน่ารู้ Tags: MERS VIRUS

สถานการณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกวันนี้ คงไม่มีเรื่องใดได้รับความสนใจมากไปกว่าการระบาดของเชื้อไวรัสเมอร์สอีกแล้ว เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสตัวล่าสุดที่กำลังมีการระบาดกระจายไปในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและประเทศเกาหลีใต้ และล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขได้ยืนยันการพบผู้ติดเชื้อไวรัสเมอร์สคนแรกในประเทศไทยแล้ว…


โรคเมอร์ส (Mers) คืออะไร

โรคเมอร์ส (Mers : Middle East Respiratory Syndrome)   คือโรคระบบทางเดินหายใจชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์โคโรนา (Corona Virus) หรือที่เรียกว่า เชื้อไวรัสเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome Coronavirus : MERS-CoV)  หรือ EMC/2012 (HCoV-EMC/2012) เนื่องจากพบการระบาดครั้งแรกเมื่อปี 2012 เดิมทีเดียวไวรัสสายพันธุ์โคโรนานี้มักพบในสัตว์จำพวกค้างคาวบางชนิดและอูฐที่เลี้ยงกันมากทางตะวันออกลางที่มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย ต่อมาพบว่าเจ้าไวรัสมรณะนี้ได้พัฒนาสายพันธุ์ตัวเองให้สามารถกระจายมาสู่คน และสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ในที่สุด


ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ตะวันออกกลาง ต้นเหตุของการเกิดโรคเมอร์ส

การระบาดของเชื้อไวรัสจากสัตว์สู่คนนั้น ตรวจพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 2012 (พ.ศ.2555) ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยผู้ป่วยรายแรกเป็นชายวัย 60 ซึ่งต่อมาเสียชีวิตด้วยอาการปอดอักเสบและไตวาย จากนั้นเชื้อไวรัสเมอร์สได้ระบาดลุกลามอย่างรวดเร็วในประเทศซาอุดิอาระเบียและประเทศอื่นๆในตะวันออกกลาง และการะจายสู่ประเทศต่างๆทั่วโลกในปัจจุบัน เชื้อไวรัสโคโรน่าต้นเหตุของโรคเมอร์สนี้ มีสายพันธุ์ใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสโรคซาร์ส (SARS : Severe Acute Respiratory Syndrome) แต่มีอาการที่รุนแรงกว่า

หมายเหตุ บางครั้งจะเรียกไวรัสตัวนี้ว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ตะวันออกกลาง และโรคเมอร์ส บางครั้งเรียกว่า โรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลาง

ข้อมูลทางพันธุศาสตร์ของไวรัสเมอร์ส

Group : Group IV ((+)ssRNA)

Order : Nidovirales

Family : Coronaviridae

Subfamily : Coronavirinae

Genus : Betacoronavirus

Species : MERS-CoV


อาการของผู้ติดเชื้อไวรัสเมอร์ส/ผู้ป่วยโรคเมอร์ส

อาการเบื้องต้นของผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสเมอร์สนั้นจะมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด กล่าวคือจะมีอาการไอ จาม มีไข้สูง และหอบเหนื่อย อาจะมีอาการท้องเสียและอาเจียนร่วมด้วย จากนั้นจะมีอาการรุนแรงขึ้นเช่น ปอดอักเสบ ไตวาย และระบบการหายใจล้มเหลว จนทำให้เสียชีวิตในที่สุด ดังนั้นผู้ที่มีภาวะเสี่ยง เช่น เพิ่งเดินทางกลับจากพื้นที่ที่มีการระบาด สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ถ้ามีอาการคล้ายเป็นหวัด ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคทันที


ระยะฟักตัวของไวรัส

เชื้อไวรัสเมอร์สจะมีระยะฟักตัวราว 14 วัน ก่อนที่จะแสดงอาการป่วย ในบางรายพบว่าไม่แสดงอาการป่วยให้เห็น จึงกลายเป็นพาหะนำโรคและแพร่เชื้อโรคให้ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว

การติดต่อหรือแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเมอร์ส

ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าเชื้อไวรัสนี้กระจายจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้อย่างไร แต่พบว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมดังนี้

- ผู้ที่เดินทางเข้าไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด

- ผู้ที่สัมผัสคลุกคลีกับผู้ที่มีเชื้อไวรัสเมอร์สในตัวหรือผู้เป็นพาหะ

- ผู้ที่สัมผัสคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงที่มีเชื้อไวรัสในตัว

- บุคคลากรทางการแพทย์ผู้ให้การรักษาผู้ป่วยเมอร์ส


วิธีรักษาผู้ติดเชื้อโรคเมอร์ส

ปัจจุบันยังไม่มียา วัคซีน หรือเครื่องมือใดๆที่จะสามารถรักษาอาการโรคจากไวรัสเมอร์สได้โดยตรง จึงทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก (ราว 30% ของผู้ป่วย) การรักษานั้นแพทย์จะทำการรักษาตามอาการและประคองอาการเท่านั้น ดังนั้นใครที่มีภาวะเสี่ยง ควรหมั่นสังเกตุตัวเอง ถ้ามีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที


วิธีป้องกันตัวจากเชื้อไวรัสเมอร์ส

เนื่องจากยังไม่มียารักษาโรคนี้โดยตรง ดังนั้นควรป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากเชื้อไวรัสตัวนี้ให้มากที่สุด ดังนี้

- หลีกเลี่ยงเดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ที่มีการระบาด

- ผู้ที่ทำการใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ควรสวมหน้ากากอนามัย

- ไม่เข้าไปอยู่ใกล้หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย

- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยหวัดหรือมีอาการคล้ายหวัด

- หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัดพลุกพล่าน

- หมั่นสังเกตุคนใกล้ชิดและคนในครอบครัว ถ้ามีอาการน่าสงสัย ให้พาไปพบแพทย์ทันที

- หมั่นออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ

- รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ๆ

- ล้างมือบ่อยๆ


ควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด

ประเทศที่พบการระบาดของโรคเมอร์ส ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อแล้วใน 20 ประเทศ ดังนี้ จอร์แดน ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ อังกฤษ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฝรั่งเศส ตูนีเซีย เยอรมนี อิตาลี โอมาน คูเวต อียิปต์ ตุรกี อัลจีเรีย อินโดนีเซีย ออสเตรีย จีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และประเทศไทย (วันที่ 18 มิถุนายน 2558 มีรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขว่าพบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศ เป็นชายชาวโอมาน อายุ 75 ปี ที่เพิ่งเดินทางเข้ามายังประเทศไทย)


โรคไวรัสเมอร์สนับได้ว่าเป็นโรคติดต่อที่มีความร้ายแรงมาก นับจากการระบาดของโรคซาร์ส (SARS : Severe acute respiratory syndrome) เมื่อหลายปีก่อน เป็นโรคที่ยังไม่มียารักษาโดยตรง ดังนั้นจึงควรระมัดระวังตนเองไม่ให้รับเชื้อ ถ้าสงสัยในความเสี่ยงของตนควรรีบไปพบแพทย์ มีรายงานทางการแพทย์หลายชิ้นระบุว่าโรคเมอร์สนี้ไม่ได้ติดต่อกันง่ายนัก แต่อย่างไรก็ตามเราไม่ควรทำตัวเองให้มีความเสี่ยงต่อการรับโรค อย่างน้อยควรยึดหลัก … ตระหนักแต่ไม่ตระหนก และ ปลอดภัยไว้ก่อนนะครับ 


CR: www.เกร็ดความรู้.net/mers/