โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน Stroke

โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน Stroke


ตาพร่ามัว ปวดศีรษะ แขนขาอ่อนแรง (ไทยรัฐ)

โดย :  ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี


          ไลฟ์สไตล์คนกรุงน่าห่วง ทำงานเร่งรีบ เครียด บริโภคอาหารฟาสต์ฟูด อ้วน ขาดการออกกำลังกาย เสี่ยงเป็น โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน ส่วนใหญ่มักมีอาการเฉียบพลัน หากถึงมือแพทย์ช้า อาจเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ตลอดชีวิต


          โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน หรือ Stroke เกิดจากภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เพราะมีการอุดตันของเส้นเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนต่างๆ ส่งผลให้สมองขาดเลือด อยู่ในภาวะที่ทำงานไม่ได้ กลายเป็น โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน อาการเบื้องต้นที่พบบ่อยของ โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน เช่น ตาพร่ามัวมองเห็นภาพซ้อน มีอาการชาครึ่งซีก อ่อนแรงและหน้าเบี้ยว หรือมีอาการแขนขาอ่อนแรงร่วมด้วย พูดลำบาก หรือฟังไม่เข้าใจ เวียนศีรษะ การทรงตัวไม่ดี เดินเซ กลืนลำบาก ปวดศีรษะ (บางครั้งจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง) ซึ่งอาจจะแสดงอาการออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีอาการหลายอย่างพร้อมกัน ส่วนใหญ่ โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน มักเกิดในกลุ่มวัยกลางคนขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงวัยที่กำลังสร้างสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์ เพื่อให้การรักษาและวินิจฉัยโดยด่วน ถ้าผู้ป่วย โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน ได้รับการรักษาและสามารถกลับคืนมาเป็นปกติใน 24 ชั่วโมง เรียกว่า TIA (Transient Ischemic Attack) หรือ Mini stroke


          สาเหตุสำคัญของ โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน เกิดจากการมีไขมันไปเกาะผนังหลอดเลือดด้านในหลอดเลือดสมอง หรือมีลิ่มเลือดขนาดเล็กที่ลิ้นหัวใจและผนังหัวใจ หลุดลอยตามกระแสเลือดไปอุดตันหลอดเลือดในสมอง ซึ่งมักพบในผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจโต ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว ผนังหัวใจรั่ว หรือเกิดจากการฉีกของผนังหลอดเลือดด้านใน ทำให้เส้นเลือดอุดตัน รวมถึงการแข็งตัวของเลือดที่เร็วเกินไป หรือเกล็ดเลือดมากเกินไป ล้วนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้หลอดเลือดอุดตันได้ 


          ผู้ที่เข้าข่ายเสี่ยงต่อการเกิด โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน ได้แก่ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ทำให้มีลิ่มเลือดหลุดไปอุดเส้นเลือดสมอง ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง จะทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเร็วกว่าปกติ ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์มาก ละเลยการออกกำลังกาย นอกจากนี้ฮอร์โมนบางอย่างโดยเฉพาะฮอร์โมนเพศหญิง จะทำให้หลอดเลือดดำในสมองอักเสบได้


การป้องกัน โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน ที่ควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

          งดสูบบุหรี่

          ควบคุมอาหาร อย่าให้น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน

         ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

          ควบคุมระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

          ถ้าเป็นเบาหวาน ควรรักษาระดับน้ำตาลให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด

          หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

          ถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรดูแลความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

          หากมีอาการผิดปกติ เช่น แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดลำบาก เวียนศีรษะ มองเห็นภาพซ้อน ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

          ควรตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ เพื่อตรวจหาความเสี่ยง เพราะอาจเกิดลิ่มเลือดในหัวใจหลุดเข้าไปอุดตันในหลอดเลือดสมองได้


          การจะทราบว่าผู้ป่วยที่มาพบแพทย์เป็น โรคหลอดเลือดสมอง หรือไม่ เป็นที่จุดใด มีความรุนแรงเพียงใดนั้น ควรทำการตรวจโดยเครื่องมือทางการแพทย์ ที่ให้ผลละเอียดและมีความแม่นยำสูง เพื่อประกอบการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งมีหลายวิธี อาทิ การตรวจสมองด้วยคอมพิวเตอร์ (CT Scan) การตรวจด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI และ MRA) การตรวจการไหลเวียนเลือดของหลอดเลือดในสมอง (Transcranial Doppler : TCD) และการตรวจหลอดเลือดคอ เป็นต้น ซึ่งผลที่ได้มีความละเอียดแม่นยำมากพอ ที่จะช่วยทำให้แพทย์วางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ


การรักษา โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน

          สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญช่วยให้เกิดความสำเร็จในการรักษา โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน คือ การทำให้เซลล์ของสมองยังอยู่รอดให้ได้นานที่สุด ถ้าเราสามารถทำให้เลือดไหลเวียนได้ทันเวลาและในระดับที่เพียงพอ ก็สามารถทำให้เนื้อสมองบริเวณนั้นฟื้นตัวได้เร็ว ส่งผลให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติได้ ซึ่งการรักษานี้จะต้องทำภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อให้ยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolysis) การให้ยานี้ผู้ป่วยควรอยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญด้านสมองเท่านั้น หลังจากให้ยาแล้วผู้ป่วย โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน ควรอยู่ในโรงพยาบาล 2-3 วัน เพื่อดูอาการต่อไป หากเกิน 3 ชั่วโมงแล้ว ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาในหอผู้ป่วย โรคหลอดเลือดสมอง เพื่อทำการรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยมากที่สุด เช่น

          รักษาโดยการให้ยาบางประเภท เพื่อให้เซลล์สมองเสียน้อยที่สุด โดยระยะแรกๆ ควรจะดูแลผู้ป่วย โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน อย่างใกล้ชิด เพื่อสังเกตอาการแทรกซ้อน บำบัดรักษาโรคอื่นๆ ของผู้ป่วย เช่น โรคเบาหวาน ความดันสูง โรคไต ปอดบวม กลืนลำบาก เป็นต้น

          ใช้กายภาพบำบัดในรายที่เป็นอัมพาต ไม่ว่าจะเป็นการฝึกนั่ง ยืน เดิน การฝึกกลืน ฯลฯ

         ในรายที่ซึมเศร้า เป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้ป่วยที่เป็นโรคอัมพาต มักจะให้การรักษาโดยใช้จิตบำบัดร่วมด้วย

          ผู้ป่วยควรได้รับการฟื้นฟูมากที่สุด เพื่อให้ช่วยเหลือตัวเองหรือเป็นอิสระมากที่สุด ผู้ป่วยบางรายช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทีมแพทย์และพยาบาล ควรจะมีการติดตามอาการผู้ป่วยขณะบำบัดที่บ้านด้วย

 

CR: ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ไทยรัฐ

      http://health.kapook.com/view77.html