14 อาหารบํารุงสมองลูกในครรภ์ ฉลาดตั้งแต่อยู่ในท้อง

14 อาหารบํารุงสมองลูกในครรภ์...ฉลาดตั้งแต่อยู่ในท้อง!! 

การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่ เป็นเรื่องสำคัญอย่างมากสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เนื่องจากอาหารที่คุณแม่รับประทานเข้าไปจะส่งผลถึงลูกโดยตรง หากคุณแม่หวังจะให้ลูกน้อยมีพัฒนาการที่สมบูรณ์และออกมาลืมตาดูโลกด้วยความแข็งแรงในทุก ๆ ด้าน นอกเหนือจากพัฒนาการและความสมบูรณ์แข็งแรงของลูกแล้ว "ความฉลาด" ของลูกก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่พ่อและแม่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งคุณแม่สามารถกระตุ้นการทำงานของสมองลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในครรภ์ได้ด้วยการรับประทานอาหารเหล่านี้ครับ 

อาหารบํารุงสมองทารกในครรภ์
    1.กรดไขมันโอเมก้า 3 จากปลาทะเล (Omega-3 fatty acids) ปลาทะเลอย่าง ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลาซาบะ ปลาแมคเคอเรล ปลานิลทะเล ปลาดุกทะเล ฯลฯ รวมถึงหอยนางรม หอยพัด หอยกาบ กุ้ง และปลาหมึก จะอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ช่วยในเรื่องการกระตุ้นสมอง บำรุงเซลล์สมอง และเพิ่มประสิทธิภาพความจำ โดยมีผลการศึกษาวิจัยที่พบว่า ยิ่งคุณแม่ตั้งครรภ์รับประทานปลามากในช่วง 2 ไตรมาสแรก ทารกในครรภ์ก็จะยิ่งมีพัฒนาการด้านสติปัญญาสูงมากขึ้น (ศึกษาจากการวัดระดับคะแนนด้านสติปัญญาของทารกเมื่ออายุ 6 เดือน) แต่อย่างไรก็ตาม คุณแม่ก็ควรหลีกเลี่ยงหรือระมัดระวังสารปรอทที่อาจเจือปนอยู่มาจากปลาบางชนิดหรือบางตัวด้วย เช่น ปลาที่ควรหลีกเลี่ยง ปลาฉลาม ปลาอินทรี ปลาไทล์ฟิช ปลากระโทงแทงดาบ ปลาทูน่า ปลากระพง ปลาฮาลิบัต ปลามาลิน ปลาวอลล์อาย ปลาจำพวกกะพงปากกว้าง ปลาเก๋า ปลาสำลีน้ำลึก ฯลฯ เพราะปลาพวกนี้จะมีสารปรอทเจือปนอยู่มาก และควรหันมาเลือกรับประทานปลาทะเลชนิดอื่น ๆ ที่มีสารปรอทเจือปนอยู่น้อยแทน (คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับ DHA วันละ 300 มิลลิกรัม / เหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 2-3 เพื่อการเจริญเติบโตของเซลล์สมอง)

    2.โฟเลต (กรดโฟลิก) เป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยสร้างเซลล์สมอง ระบบประสาท และไขสันหลังให้ทารกในครรภ์ การได้รับโฟเลตไม่เพียงพออาจส่งผลให้ทารกในครรภ์เกิดความพิการทางสมองและมีความเสี่ยงต่อการเป็นท่อระบบประสาทผิดปกติ เช่น Spina Bifida ลดลงอย่างชัดเจน ถ้าคุณแม่ได้รับโฟเลตในช่วงระหว่างที่มีการปฏิสนธิและในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยโฟเลต ได้แก่ ไข่แดง ตับ ผักใบเขียวเข้ม แคร์รอต แคนตาลูป ฟักทอง เอพริคอต อะโวคาโด อาร์ทิโชก ถั่ว แป้งไรย์แบบสีเข้มที่ไม่ผ่านการขัดสี ทอร์ทูลายีสต์ ฯลฯ (คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับโฟเลตวันละ 400-800 ไมโครกรัม / เหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกไตรมาส โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ซึ่งมีการสร้างเซลล์ใหม่เป็นจำนวนมาก และการได้รับโฟเลตไม่เพียงพอในช่วงไตรมาสที่ 2-3 จะทำให้ทารกมีความเสี่ยงต่อพัฒนาการทางสมองและประสาทไขสันหลัง อาจทำให้ทารกมีความพิการทางสมองและประสาทได้)

    3.ธาตุเหล็ก คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับธาตุเหล็กเพิ่มขึ้นจากปกติเป็น 2 เท่า เพราะธาตุเหล็กสามารถช่วยเสริมสร้างการทำงานของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงได้ ซึ่งจะช่วยนำออกซิเจนไปให้ทารกในครรภ์อีกทอดหนึ่ง ถ้าคุณแม่ขาดธาตุเหล็ก ทารกก็จะขาดออกซิเจนตามไปด้วย ซึ่งการขาดออกซิเจนของทารกในครรภ์อาจทำให้ทารกมีความเสี่ยงที่จะมีพัฒนาการล่าช้าและมีระดับไอคิวที่ไม่สูงเท่าที่ควร ดังนั้นคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กเป็นประจำ เช่น เนื้อแดง เนื้อวัว เนื้อหมู ตับ ไข่แดง หอยกาบ หอยนางรม ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช ลูกพีชแห้ง ถั่วต่าง ๆ ข้าวโอ๊ต กากน้ำตาล หน่อไม้ฝรั่ง ผักกูด ถั่วฝักยาว ผักแว่น เห็ดฟาง พริกหวาน ใบแมงลัก ใบกะเพรา มะกอก กระถิน ฯลฯ (คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับธาตุเหล็กวันละ 30 มิลลิกรัม / เหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 2-3 เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณของเลือดและสะสมน้ำนมในช่วงนี้)4.ไอโอดีน เป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อพัฒนาการทางสมอง ระบบประสาท และความจำของลูกน้อยในครรภ์ การที่คุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับไอโอดีนไม่เพียงต่อความต้องการอาจจะทำให้เป็นโรคคอพอกได้ และจะส่งผลถึงทารกโดยตรงคือ ทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวน้อย แคระแกร็น และมีสติปัญญาต่ำ แหล่งอาหารที่มีไอโอดีน เช่น เกลือเสริมไอโอดีนและอาหารทะเลทุกชนิด เช่น ปลาทะเล กุ้ง ปู หอย ปลาหมึก สาหร่ายทะเลสีน้ำตาล ฯลฯ รวมถึงผักที่ปลูกในดินที่มีแร่ธาตุไอโอดีนสูง (คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับไอโอดีนวันละ 175-200 ไมโครกรัม / เหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 2-3 เพราะในขณะตั้งครรภ์ต่อมไทรอยด์จะทำงานหนักขึ้น ร่างกายจึงต้องการไอโอดีนเพิ่มขึ้น)

    5.โปรตีน อาหารที่มีโปรตีนมีความสำคัญอย่างมากต่อการสร้างเซลล์ของทารกในครรภ์ มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสมอง ถ้าลูกได้รับโปรตีนไม่เพียงพอจะทำให้สมองมีขนาดเล็กกว่าปกติ อาหารที่เป็นแหล่งของโปรตีน ได้แก่ อาหารประเภทเนื้อสัตว์ทุกชนิดและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น เนื้อปลา นม ไข่ ฯลฯ รวมถึงถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองด้วย เช่น นมถั่วเหลือง เต้าหู้ ฯลฯ โดยมื้ออาหารที่มีโปรตีนสูงและเหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่อยากแนะนำก็คือ โยเกิร์ตสำหรับมื้อเช้า ซุปถั่วสำหรับมื้อเที่ยง ขนมปังทาเนยถั่วเป็นของว่าง และเนื้อวัวไม่ติดมันสำหรับมื้อเย็น (คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับโปรตีนวันละ 60 กรัม / เหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกไตรมาส เพราะโปรตีนเป็นสารอาหารหลักที่ช่วยในการสร้างและเพิ่มขนาดเซลล์ เพิ่มปริมาณเลือด สร้างน้ำย่อย เสริมภูมิคุ้มกัน และช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ)

    6.คาร์โบไฮเดรต เมื่อร่างกายย่อยอาหารจำพวกแป้งแล้วจะเปลี่ยนเป็นกลูโคสหรือน้ำตาลที่มีขนาดเล็กที่สุด เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานให้แก่ร่างกาย และเป็นอาหารที่จำเป็นต่อสมองของลูกในครรภ์ ส่วนอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตจะมีอยู่ด้วยกัน 5 ประเภทด้วยกัน คือ ธัญพืช ผัก นม ขนมหวาน และน้ำหวานชนิดต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น ข้าวเจ้า ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวฟ่าง เผือก มันเทศ มันสำปะหลัง อ้อย ผลไม้ต่าง ๆ ฯลฯ ส่วนในสัตว์จะพบได้น้อยกว่าในพืช (ผู้ใหญ่ควรได้รับคาร์โบไฮเดรตไม่น้อยกว่าวันละ 50-100 กรัม / เหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 1 เพราะในช่วงไตรมาสแรกคุณแม่จะมีอาการแพ้ท้อง คาร์โบไฮเดรตที่เป็นอาหารที่กินง่ายและย่อยง่าย จึงช่วยเสริมพลังให้กับคุณแม่ได้เป็นอย่างดี)

    7.อะเซทิลโคลีน เป็นสารที่พบได้ในขนมปังโฮลวีตและข้าวซ้อมมือ ซึ่งมีประโยชน์ช่วยในการทำงานของระบบประสาทให้เชื่อมโยงกับเซลล์สมอง เพื่อทำหน้าที่ส่งข้อมูลได้รวดเร็ว จึงทำให้ระบบต่าง ๆ ทำงานได้ดีตามไปด้วย นอกจากการรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่แล้ว คุณแม่ตั้งครรภ์ควรดื่มน้ำให้มากพอด้วย อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว หากอยากให้ลูกน้อยมีพัฒนาการทางสมองที่สมวัย เพราะน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญของสมองและช่วยหล่อเลี้ยงเซลล์ในสมอง (เหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกไตรมาส)

    8.วิตามินบี 1 เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับพัฒนาการทางสมองส่วนกลางของทารกในครรภ์ แหล่งที่พบวิตามินบี 1 ตามธรรมชาติ ได้แก่ ผัก โฮลวีท ถั่วเหลือง ข้าวโอ๊ต ถั่วลิสง รำข้าว เปลือกข้าว เมล็ดที่ไม่ผ่านการขัดสี บริวเวอร์ยีสต์ นม ไข่แดง ปลา เนื้อออร์แกนิก เนื้อหมูไม่ติดมัน เป็นต้น (คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินบี 1 วันละ 1.5-1.6 มิลลิกรัม)

    9.วิตามินบี 2 เป็นวิตามินที่ช่วยในเรื่องของการเจริญเติบโตและการพัฒนาสมองของลูกในครรภ์ หากได้รับในปริมาณที่ไม่เพียง พอ อาจทำให้สมองของทารกมีขนาดเล็กได้ แหล่งที่พบวิตามินบี 2 ในธรรมชาติ ได้แก่ ไข่ นม ถั่ว โยเกิร์ต ชีส ผักใบเขียว ปลา ตับ เป็นต้น (คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินบี 2 วันละ 1.6 มิลลิกรัม / เหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกไตรมาส เพื่อช่วยในการเจริญเติบโต ช่วยให้เม็ดเลือดแดงคงสภาพ และรักษาสุขภาพของระบบประสาท)

    10.วิตามินบี 6 เป็นวิตามินที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของสมองและระบบประสาทของทารกในครรภ์ และช่วยลดอาการแพ้ท้องได้ แหล่งที่พบวิตามินบี 6 ตามธรรมชาติ ได้แก่ ข้าวที่ไม่ผ่านการขัดสี รำข้าว จมูกข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ถั่วลิสง ถั่วเหลือง วอลนัต บริวเวอร์ยีสต์ กะหล่ำปลี กากน้ำตาล แคนตาลูป ไข่ ตับ ปลา เป็นต้น (คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินบี 6 วันละ 2.2 มิลลิกรัม / เหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกไตรมาส โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกที่คุณแม่มีอาการแพ้ท้อง)

    11.วิตามินบี 12 เป็นวิตามินที่ช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อม ความจำเสื่อม และช่วยให้การทำงานของสมองและระบบประสาทเป็นปกติ วิตามินบี 12 จะพบในผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์เป็นหลัก ส่วนอาหารจากพืชจะไม่มีวิตามินบี 12 โดยอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 12 ได้แก่ ตับ นม ไข่แดง ชีส ปลา เนื้อหมู เนื้อวัว หอยนางรม เป็นต้น (คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินบี 12 วันละ 2.2 ไมโครกรัม / เหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกไตรมาส เพราะวิตามินชนิดนี้จะช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงมีขนาดปกติ ไม่ขาดธาตุเหล็ก จึงช่วยให้การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์เป็นไปอย่างปกติ เซลล์สมองได้เลือดไปหล่อเลี้ยง ได้รับสารอาหารและออกซิเจนอย่างเพียงพอ)

    12.วิตามินอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับทารก ได้แก่ วิตามินซี ควรได้รับวันละ 70-95 มิลลิกรัม, วิตามินอี ควรได้รับวันละ 10 หน่วยสากล (ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของกล้ามเนื้อและเซลล์เม็ดเลือดของทารกในครรภ์ การขาดวิตามินชนิดนี้จะทำให้ทารกที่คลอดออกมามีน้ำหนักตัวน้อย), วิตามินดี ควรได้รับวันละ 400 หน่วยสากล (ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกให้แก่ทารกในครรภ์), แคลเซียม ควรได้รับวันละ 1,200-1,500 มิลลิกรัม (มีความสำคัญต่อการพัฒนากระดูกของทารก), แมกนีเซียม ควรได้รับวันละ 300-355 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส ควรได้รับวันละ 1,200 มิลลิกรัมขึ้นไป, ซีลีเนียม ควรได้รับวันละ 65 ไมโครกรัม, ซิงค์หรือสังกะสี ควรได้รับวันละ 15 มิลลิกรัม (มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเซลล์ของทารกในครรภ์), ทองแดง สำหรับผู้ใหญ่ควรได้รับวันละ 1.5-3 มิลลิกรัม (ช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ)

    13.ผักและผลไม้ช่วยปกป้องสมองลูกได้ เนื่องจากผักและผลไม้นั้นอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระนี้จะช่วยป้องกันเนื้อเยื่อสมองของลูกไม่ให้เสียหายหรือถูกทำลายได้ แต่คุณแม่ควรเลือกรับประทานผักที่มีสีสดใสหรือสีเข้ม เพราะจะมีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าปกติ เช่น ผักใบสีเขียวเข้ม มะเขือเทศ มะละกอ บลูเบอร์รี่ ฯลฯ

    14.วิตามินสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ (Prenatal Vitamin) เป็นอาหารเสริมที่จะช่วยทำให้ทารกในครรภ์ของคุณแม่ได้รับสารอาหารสำคัญและจำเป็นอย่างครบถ้วน เช่น กรดโฟลิกและวิตามินบี 12 ที่ช่วยเสริมสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง, วิตามินดีที่ช่วยในเรื่องการสร้างกระดูก, ซิงค์หรือสังกะสีที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางสมอง ฯลฯ อย่างไรก็ตามคุณแม่ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะหามารับประทานด้วยนะครับ เพราะบางทีคุณแม่ที่รับประทานอาหารครบถ้วนทั้ง 5 หมู่หรือรับประทานวิตามินที่หมอสั่งมาอยู่แล้ว ก็อาจไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารเสริมก็ได้ครับ




ขอขอบคุณที่มา
ข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Med Thai)
ภาพประกอบ : www.livescience.com, www.stuff.co.nz