ช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่โรคตาแดง หรือ โรคตาอักเสบพบบ่อย
ซึ่งมักเกิดการระบาดในชุมชนที่อยู่ร่วมกัน แล้วโรคตาแดงคืออะไร
และเกิดขึ้นได้อย่างไร
“โรคตาแดง” เป็นการอักเสบของเยื่อบุตาที่เกิดจากการติดเชื้อ
เชื้อที่ทำให้เกิดโรคตาแดงที่พบได้บ่อยได้แก่ เชื้อไวรัส
เชื้อแบคทีเรีย และที่ทำให้เกิดการระบาดที่บ้านและที่โรงเรียน
จะเกิดจากเชื้อไวรัสเป็นส่วนใหญ่
โรคตาแดงจากเชื้อไวรัส
เป็นโรคระบาดทางตาที่พบได้บ่อย
มักมีการระบาดเป็นช่วงๆ เป็นประจำทุกปี ส่วนใหญ่เป็นในช่วงฤดูฝน
ติดต่อกันได้ง่ายและรวดเร็ว การติดต่อของโรคเกิดโดยตรงจากการสัมผัส
การใช้ของร่วมกัน การไอจาม
แม้กระทั่งการหายใจรดกันก็อาจทำให้เชื้อแพร่กระจายได้
หลังจากได้รับเชื้อแล้วจะทำให้เกิดอาการภายใน 1-2 วัน
และเมื่อเกิดเป็นตาแดงขึ้น จะมีโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้อื่นนานถึง 2
สัปดาห์
โดย ผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีอาการตาแดงอย่างเฉียบพลัน เคืองตามาก
เคืองแสง เจ็บตา น้ำตาไหล ตาบวม
มักไม่มีขี้ตาหรือมีขี้ตาเป็นเมือกใสๆ เล็กน้อย
ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมาจึงจะมีขี้ตามาก บางคนมีต่อมน้ำเหลืองหน้าใบหูโตและเจ็บ
ผู้ที่เป็นตาแดงมักเป็นกับตาข้างหนึ่งก่อน ต่อมาอีก 2-3 วัน
อาจลุกลามเป็นกับตาอีกข้างหนึ่งได้ ระยะเวลาของโรคนี้จะเป็นนานประมาณ 10-14
วัน
ในบางรายเมื่ออาการตาแดงดีขึ้น
อาจเกิดมีโรคแทรกซ้อนตามมาได้ คือ กระจกตาอักเสบ (กระจกตา
หมายถึง ส่วนที่เป็นตาดำ ลักษณะเป็นวงกลมอยู่ตรงกลางลูกตาด้านหน้า)
โดยผู้ป่วยสังเกตว่ามีอาการตามัวลง และยังเคืองตาอยู่ทั้งๆ
ที่อาการดีขึ้นแล้ว มักเกิดในช่วงวันที่ 7-10 หลังเริ่มเป็นตาแดง
กระจกตาอักเสบนี้ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจเป็นนานเป็นเดือนกว่าจะหาย
ส่วนการรักษานั้น ยังไม่มียารักษา โดยเฉพาะ
เนื่องจากโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส ดังนั้น ยาต้านไวรัสต่างๆ
ที่มีอยู่ จึงใช้ไม่ได้ผลกับเชื้อไวรัสชนิดนี้
ส่วนใหญ่จึงให้การรักษาตามอาการ เช่น
- ถ้าตาอักเสบมาก
แพทย์อาจพิจารณาให้ยาหยอดลดอาการอักเสบ
- รับประทานยาแก้ปวด
เช่น ยาพาราเซตามอลถ้ามีอาการเจ็บตา เคืองตา
- ถ้ามีขี้ตา
ให้ใช้สำลีชุบน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว
เช็ดบริเวณเปลือกตาให้สะอาด ใส่แว่นกันแดด
เพื่อลดอาการเคืองแสง
ไม่ควรใช้ผ้าปิดตาเพราะจะยิ่งทำให้การติดเชื้อเป็นมากขึ้น
งดใส่คอนแทคเลนส์จนกว่าจะหายอักเสบ
พักผ่อนให้เต็มที่และพักการใช้สายตา ส่วน
การป้องกันการติดโรคตาแดงจากเชื้อไวรัส
เป็นสิ่งที่สำคัญเนื่องจากติดต่อกันได้ง่ายมาก
และเมื่อเป็นแล้วก็ยังไม่มียาที่รักษาได้โดยตรง
มักติดต่อในกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน
การป้องกันไม่ให้มีการระบาดแพร่กระจายโรคสามารถทำได้โดยการแยกผู้ป่วย
เช่นเด็กเล็กที่ยังไม่รู้จักป้องกันการแพร่กระจายโรค
ควรให้หยุดเรียน และผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก
ควรหยุดงาน
- ผู้ที่เป็นไม่ควรจับต้องบริเวณดวงตา
หรือขยี้ตาเพราะเชื้อโรคอาจติดไปยังสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ
ได้และไม่ใช้สิ่งของ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดมือ
เสื้อผ้าปะปนกับผู้อื่น ไม่พูดไอจามรดผู้อื่น
- ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาด
โรคตาแดงจากเชื้อแบคทีเรีย
จะมีการอักเสบของเยื่อบุตาเช่นเดียวกับเชื้อไวรัส
ผู้ที่เป็นจะมีอาการตาแดง เคืองตา เจ็บตา มีขี้ตามากลักษณะข้นๆ แบบหนอง
ตื่นนอนตอนเช้ามักมีขี้ตามากจนทำให้เปลือกตาติดกัน
อาการมักไม่เฉียบพลันและรวดเร็วเท่าโรคตาแดงจากเชื้อไวรัส
โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อจึงติดต่อไปยังผู้อื่นได้และพบว่าเป็นได้เรื่อยๆ
โดยไม่ต้องมีการระบาดเป็นช่วงๆ สามารถรักษาได้โดยใช้ยาปฏิชีวนะหยอดตาและป้ายตาในช่วงแรก
ถ้าเป็นมากแพทย์มักสั่งให้หยอดยาบ่อยๆ เช่นทุก 1-2 ชั่วโมง
ถ้าอาการดีขึ้นแล้วให้หยอดยาห่างขึ้นเป็นหยอดทุก 4-6 ชั่วโมง
ส่วนยาขี้ผึ้งป้ายตามักให้ป้ายก่อนนอนเพื่อให้ได้รับยาต่อเนื่องไปตลอดทั้งคืน
ยาขี้ผึ้งป้ายตาถ้าใช้ในเวลากลางวันจะรบกวนการมองเห็น จึงไม่ค่อยสะดวกในการใช้
ยกเว้นในเด็กเล็ก หลังการใช้ยาอาการมักดีขึ้นภายใน 2-3 วัน
และหายภายใน 1 สัปดาห์ การดูแลรักษาอื่นๆ
และการป้องกันให้ปฏิบัติในทำนองเดียวกับโรคตาแดงจากเชื้อไวรัส
นอกจากจะเกิดจากโรคตาแดงดังได้กล่าวมาแล้ว ยังสามารถพบอาการนี้ในโรคตาอื่นๆ อีกหลายโรค
โดยมีลักษณะของเยื่อบุตาเป็นสีแดงๆ คล้ายคลึงกัน
บางโรคเป็นโรคที่มีอันตรายอาจทำให้เกิดการสูญเสียสายตาได้ เช่น ต้อหิน
กระจกตาติดเชื้อ ม่านตาอักเสบดังนั้นเมื่อเกิดมีอาการตาแดงขึ้น
ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ ไม่ควรซื้อยามาใช้เอง
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : https://www.bangkokpattayahospital.com/th/healthcare-services/eye-center-th/eye-articles-th/item/557-eye-inflection-th.html