อันตรายของแสงแดดต่อดวงตา

เป็นที่ทราบกันดีว่าแสงแดด ประกอบด้วยรังสีอัลตร้าไวโอเลต (ultraviolet) หรือที่เราเรียกสั้นๆว่า รังสียูวี (UV rays) ซึ่งเป็นคลื่นแสงที่มีความยาวคลื่นสั้นกว่าแสงที่มองเห็นด้วยตา กล่าวคือ แสงที่มองเห็นด้วยตามีความยาวคลื่น 400-700 นาโนเมตร รังสียูวีจึงมีความยาวคลื่นสั้นกว่า 400 นาโนเมตร มีพลังงานสูง และไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า แบ่งเป็น 3 ชนิด คือ

1. รังสียูวี ซี (UV C rays,100-280 nm) เป็นรังสียูวีที่มีพลังงานสูงที่สุดและสามารถก่อให้เกิดอันตรายกับผิวหนังและดวงตาได้มากที่สุด โอโซนในชั้นบรรยากาศสามารถกรองไว้ได้หมด แต่ปัจจุบันชั้นโอโซนในบรรยากาศกำลังถูกทำลายมากขึ้น จึงทำให้รังสีชนิดนี้อาจทะลุผ่านลงมาสู่พื้นผิวโลกมากขึ้น และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้

2. รังสียูวี บี (UV B rays, 280-320 nm) เป็นรังสีที่มีพลังงานน้อยกว่ารังสียูวี ซี ถูกกรองโดยชั้นโอโซนได้บางส่วน รังสีบางส่วนที่ทะลุผ่านลงมายังโลก ในปริมาณน้อยจะกระตุ้นการสร้างเม็ดสีเมลานิน (melanin) ทำให้สีผิวคล้ำขึ้น ส่วนรังสีในปริมาณมากจะทำให้ผิวหนังไหม้ เกิดจุดด่างดำ รอยเหี่ยวย่น และเพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งผิวหนัง

3. รังสียูวี เอ (UV A rays, 320-400 nm) เป็นรังสีที่มีพลังงานต่ำกว่า 2 ชนิดแรก แต่สามารถทะลุผ่านกระจกตา เข้าไปสู่เลนส์ตาและจอตาได้ การได้รับรังสีชนิดนี้เป็นปริมาณมากอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดต้อกระจกและบางการวิจัยพบว่าอาจมีผลต่อการเกิดจุดภาพชัดเสื่อมด้วยเช่นกัน

 

โดยปกติเราสามารถปกป้องผิวหนังจากแสงแดดด้วยการใช้ครีมกันแดด แต่ทราบหรือไม่ว่า แม้ดวงตาของเราจะคิดเป็นเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกาย แสงแดดก็สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อส่วนต่างๆของดวงตาได้มากมาย ดังนั้น เพื่อปกป้องดวงตาซึ่งเป็นอวัยวะที่บอบบางให้ปลอดภัยจากอันตรายภายนอกรวมทั้งแสงแดด ดวงตาของเราจึงถูกสร้างให้ถูกห่อหุ้มด้วยกระดูกเบ้าตา มีเปลือกตา ขนคิ้วและขนตาเป็นเกราะป้องกันอีกชั้นหนึ่ง นอกจากนี้การหดแคบลงของรูม่านตา การหลับตาหรือการหรี่ตา ก็เป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยปกป้องดวงตาตามธรรมชาติเมื่อถูกกระตุ้นด้วยแสงที่สามารถมองเห็นด้วยตา แต่จะไม่ถูกกระต้นด้วยรังสียูวี ดังนั้น แม้ในวันที่ไม่มีแสงแดดจ้า เราจะยังคงได้รับรังสียูวีในปริมาณมากอยู่ กล่าวคือ ประสิทธิภาพของกลไกป้องกันดวงตาตามธรรมชาติจึงอาจมีข้อจำกัด

แสงแดดเป็นอันตรายต่อดวงตาอย่างไร

เปลือกตา มีความเปลี่ยนของสีผิว จุดด่างดำ ริ้วรอยรอบดวงตา นอกจากนี้ยังมีรายงานพบว่ามะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณเปลือกตาบางขนิด เช่น basal cell carcinoma squamous cell carcinoma ตลอดจน malignant carcinoma อาจเกี่ยวเนื่องมาจากการได้รับแสงแดดอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน

เยื่อบุตา มีการเสื่อมของเยื่อบุตาบริเวณที่ชิดกับขอบตาดำ เรียกว่า ต้อลม ซึ่งเกิดจากการระคายเคืองจากลม ฝุ่น รังสียูวี หากต้อลมลุกลามเข้าไปในตาดำ เรียกว่า ต้อเนื้อ ไม่เพียงทำให้เกิดความไม่สวยงาม แต่อาจรบกวนการมองเห็น หรือหากมีการอักเสบ จะทำให้มีอาการปวดและระคายเคืองได้

กระจกตา การอักเสบเฉียบพลันของกระจกตา ทำให้มีอาการปวดตามากน้ำตาไหล มักจะเกิดอาการประมาณ 2-3 ชั่วโมง หลังจากได้รับรังสียูวีปริมาณมาก เช่น แสงสะท้อนจากหิมะ หรือรังสียูวีจากการเชื่อมโลหะโดยไม่สวมใส่แว่นป้องกัน อาการมักจะเป็นอยู่ชั่วคราวประมาณ 1-2 วัน

เลนส์ตา การเกิดต้อกระจก แม้ว่าต้อกระจกจะเกิดจากการเสื่อมตามวัย แต่พบว่าการได้รับรังสียูวีทำให้เป็นต้อกระจกมากขึ้นได้ ในแต่ละปี มีประชากรกว่า 16 ล้านคนทั่วโลกตาบอดจากต้อกระจก จากรายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่าประมาณ 20 เปอร์เซนต์ของต้อกระจกอาจมีสาเหตุมาจากการได้รับรังสียูวีมากเกินไป ซึ่งเป็นสาเหตุที่หลีกเลี่ยงได้

จอตา ในคนหนุ่มสาวเลนส์ตาที่ยังใสอยู่ไม่สามารถดูดซับรังสียูวีไว้ได้หมด จึงมีโอกาสที่รังสียูวีจะเข้าไปทำลายจอตาทำให้เกิดจอตาเสื่อมได้ แม้ว่าในจอตาของเราจะมีสารหรือเม็ดสีตามธรรมชาติที่ช่วยปกป้องจอตา แต่สารเหล่านี้จะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้กระบวนการป้องกันจอตาตามธรรมชาติลดลงและเกิดการเสื่อมของจอตาได้ง่ายขึ้น เมื่อได้รับรังสียูวี นอกจากนี้บางการศึกษาเชื่อว่ารังสียูวีน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะจุดรับภาพเสื่อมในผู้สูงอายุ (age-related macular degeneration, AMD)

 

แสงสีฟ้า คืออะไร

ในปัจจุบันมีการตื่นตัวเกี่ยวกับแสงสีฟ้ากันอย่างกว้างขวางขึ้น จริงๆแล้วแสงสีฟ้า (blue light or high-energy visible radiation) เป็นแสงที่มองเห็นด้วยตา มีช่วงความยาวคลื่นระหว่าง 381-500 นาโนเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงคลื่นรังสียูวี แสงสีฟ้าปริมาณสูงสามารถทำลายเซลล์อย่างถาวรในบางคน และหากได้รับแสงสีฟ้าเป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดจุดภาพชัดเสื่อม ซึ่งเป็นจุดสำคัญในจอตา โดยเซลล์จะถูกทำลายอย่างช้าๆและทำให้สูญเสียการมองเห็นส่วนกลางอย่างถาวรในที่สุด การศึกษา European study ตีพิมพ์ในวารสาร Archives of Ophthalmology ฉบับเดือนตุลาคม 2008 พบว่ากลุ่มคนที่มีระดับวิตามินซีและสาร antioxidant อื่นๆในเลือดต่ำ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดจอตาหรือจุดภาพชัดเสื่อมจากแสงสีฟ้า

ในชีวิตประจำวันเราได้รับแสงสีฟ้าอยู่ตลอดเวลา ทั้งจากคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ และหน้าจอโทรศัพท์มือถือ หรือจากอุปกรณ์บางอย่าง เช่น เลเซอร์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์บางชนิด อย่างไรก็ตามเราสามารถป้องกันแสงสีฟ้า โดยการใช้เลนส์ Blue blocker ซึ่งมักจะเป็นเลนส์สีเหลือง หรือสีส้ม ซึ่งโดยทั่วไปเลนส์ชนิดนี้ไม่ได้ลดปริมาณแสงสีฟ้าที่จะผ่านเข้าสู่ดวงตา แต่จะช่วยเปลี่ยนแปลงการปรากฎของแสงสีฟ้าและสีเขียว เนื่องจากแสงสีฟ้าอยู่ในช่วงคลื่นที่ใกล้เคียงกับรังสียูวีมาก การใช้เลนส์ Blue blocker จะสามารถช่วยป้องกันรังสียูวีได้ด้วย

เลือกแว่นกันแดดอย่างไรให้ปลอดภัย

1. สามารถป้องกันทั้งรังสียูวีเอและบีได้ 99-100 เปอร์เซนต์ โดยต้องมีป้ายระบุชัดเจน ทั้งนี้ประสิทธิภาพการป้องกันรังสียูวีไม่ได้ขึ้นอยู่กับสีหรือระดับความเข้มของเลนส์

2. เลนส์ควรมีขนาดใหญ่และกว้างสามารถปิดบังดวงตาจากแสงแดดได้ทุกองศา

3. นอกจากจะป้องกันรังสียูวีแล้ว แว่นกันแดดที่ดี ควรมีคุณสมบัติอื่นๆร่วมด้วย ได้แก่

Blue-blocking lenses ช่วยให้เห็นวัตถุไกลๆได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในหิมะหรืออากาศขุ่นมัว เลนส์ที่สามารถป้องกันแสงสีฟ้าได้ทั้งหมด คือ สีเหลืองอำพัน แต่อย่างไรก็ตาม แนะนำให้ใช้เลนส์สีเทาในการขับรถเพื่อให้เห็นแสงสีสัญญาณไฟจราจรได้อย่างถูกต้อง

Polarized lenses ช่วยตัดแสง ลดการเกิดแสงแตกกระจาย เช่น แสงแดดสะท้อนจากหิมะหรือผิวน้ำ

Photochromic lenses สามารถปรับความเข้มของสีเลนส์ได้ตามปริมาณแสงที่เปลี่ยนแปลง

Polycarbonate lenses ช่วยป้องกันการกระแทกหรืออุบัติเหตุที่ดวงตา

Mirror-coated lenses ช่วยลดแสงที่มองเห็นด้วยตา

Gradient lenses มี 2 ชนิด คือ single-gradient lenses ซึ่งมีสีเข้มด้านบน สีอ่อนด้านล่าง ช่วยลดแสงแตกกระจายและเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น เหมาะสำหรับการขับรถ อีกชนิดหนึ่ง คือ double-gradient lenses ซึ่งจะมีสีเข้มด้านบนและล่าง สีอ่อนตรงกลาง เหมาะสำหรับกีฬาทางน้ำหรือกีฬาฤดูหนาว

 

บทความสุขภาพตา โดย พญ.วีรยา พิมลรัฐ

 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : https://www.bangkokpattayahospital.com/th/newsroom-th/health-articles-th/item/2681-the-dangers-of-sun-exposure-to-the-eyes-th.html