เช็ก...13 กลุ่มเสี่ยงอาการหนักหากติดโควิด 19 รักษาช้าอาจถึงตาย !

อาการโควิด 19 ในเคสที่เบา ๆ อาจไม่แสดงอาการเลย หรือแค่มีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป แต่ในกรณีที่เป็นหนัก อาการผู้ป่วยจะค่อนข้างรุนแรง ซึ่งมักจะมีอาการหายใจหอบเหนื่อย และมีภาวะปอดอักเสบ เนื่องจากเชื้อไวรัสเข้าไปทำลายปอด ส่งผลให้ระบบหายใจล้มเหลว ยิ่งเมื่อมีเคสที่คนอายุน้อย ร่างกายยังดูแข็งแรง แต่พอติดโควิด 19 ก็เสียชีวิตได้ภายในไม่กี่วัน ทำให้อยากมาทบทวนสักหน่อยว่า ใครกันนะคือกลุ่มเสี่ยงอาการหนักเมื่อติดโควิด 19 ที่ต้องป้องกันและดูแลตัวเองให้ดี ๆ เลย

 

ใครเสี่ยงอาการหนัก หากติดโควิด 19 ขึ้นมา

1. คนอ้วน

          งานวิจัยขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO และประเทศอิตาลี พบว่า คนที่มีภาวะอ้วนลงพุง คือ มีดัชนีมวลกาย (BMI) เกินมาตรฐาน จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 ได้ง่าย และผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตส่วนใหญ่ก็คือคนที่อ้วนลงพุงด้วย

         ขณะที่ นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก็ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ว่า น้ำหนักตัวทุกกิโลที่เพิ่มขึ้น เป็นความเสี่ยงของการเกิดโควิดที่รุนแรง เนื่องจากถ้าอ้วน มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 35 การทำงานของปอดอาจจะลดลง ภูมิคุ้มกัน T-cell จะทำงานน้อยกว่าปกติ เสี่ยงเกิดลิ่มเลือดในปอดได้ง่ายขึ้น หรือในคนอ้วนบางคนที่เป็นโรคเบาหวาน กลุ่มนี้ก็จะเสี่ยงเพิ่มขึ้นไปอีก

          นอกจากนี้ การที่มีไขมันสะสมบริเวณใต้คาง ใบหน้า และลำคอ ยังส่งผลให้ใส่ท่อช่วยหายใจยากขึ้นเมื่อเทียบกับคนปกติ

          - สูตรคำนวณดัชนีมวลกาย หาค่า BMI ว่าเราอ้วนเกินไปหรือยัง

2. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน

ผู้ป่วยเบาหวานที่ติดโควิด 19 การรักษาจะค่อนข้างซับซ้อน และแพทย์ต้องระมัดระวังมากกว่าคนปกติ เพราะคนเป็นเบาหวานจะมีปัญหาเรื่องระดับน้ำตาลในเลือดที่ค่อนข้างผันผวนสูง ทำให้ควบคุมการติดเชื้อได้ยาก อีกทั้งภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ของโรคเบาหวานก็อาจเป็นปัจจัยเสริมให้โรคยิ่งทวีความรุนแรงได้ง่าย นอกจากนี้เบาหวานยังเป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคนี้จะมีระบบภูมิคุ้มกันค่อนข้างต่ำ ต่อสู้กับไวรัสได้ยากกว่าคนปกติ อีกทั้งภาวะน้ำตาลในเลือดสูงยังอาจทำให้ไวรัสเจริญเติบโตได้ดีอีกด้วย

3. ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง

 

          ข้อมูลวารสารทางการแพทย์ Lancet พบว่า เมื่อผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงติดโควิด 19 อาจมีอาการรุนแรงมากกว่าคนปกติ เนื่องจากเชื้อโคโรนาไวรัสส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ 17% กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 7% และส่งผลให้เกิดระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว 9%

4. ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาช้า

          ระยะหลังพบว่าผู้ป่วยโควิด 19 อายุไม่มาก ติดเชื้อและรักษาตัวไม่กี่วันก็เสียชีวิต ซึ่งประเด็นนี้ ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า คนหนุ่มสาวมักชะล่าใจคิดว่าไม่เป็นไร จึงเข้ารับการรักษาช้า ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจมีอาการปอดอักเสบอยู่แต่ไม่แสดงอาการมาก จนไวรัสทำลายปอดไปเยอะแล้ว ถ้าไม่รีบรักษาก็อาจเสี่ยงเสียชีวิตได้

5. ผู้สูงอายุ

เมื่ออายุมากขึ้น ภูมิคุ้มกันจะทำงานได้ลดลง เพราะสภาพร่างกายไม่เอื้อต่อการออกกำลังกาย รับประทานอาหารก็ได้น้อยกว่าที่เคย อีกทั้งภาวะโรคเรื้อรังต่าง ๆ ตามวัย ปัจจัยเหล่านี้แหละที่ทำให้ผู้สูงอายุเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสได้ง่าย และถ้าติดแล้วก็เสี่ยงมีอาการรุนแรงกว่าคนปกติ

6. ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง

          โรคไตเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องระวัง โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคไตระยะที่ 3-5 ผู้ป่วยที่รักษาด้วยการเปลี่ยนถ่ายเลือด หรือเปลี่ยนถ่ายไต ซึ่งจะมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนทั่วไป ยิ่งกับผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน หากติดเชื้อไวรัสก็จะมีอาการรุนแรงได้มาก และเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ง่ายกว่าปกติ

7. ผู้ป่วยโรคปอดและทางเดินหายใจ

          เช่น ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคหอบหืด วัณโรค โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง โรคซิสติก ไฟโบรซิส หากติดโควิด 19 ที่เป็นโรคที่มีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ จะยิ่งซ้ำเติมอาการที่เป็นอยู่ให้รุนแรงขึ้นได้

8. คนที่สูบบุหรี่จัด ๆ

          บุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า มีพิษทำลายปอดและระบบทางเดินหายใจของเราอยู่แล้ว ดังนั้น คนที่สูบบุหรี่จัด ๆ ภูมิต้านทานของปอดก็จะลดลง เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเดินหายใจได้หลายโรค ยิ่งถ้ามีภาวะถุงลมโป่งพอง หรือเป็นโรคปอดอักเสบ มะเร็งปอด รวมไปถึงโรคเรื้อรังอื่น ๆ ก็อาจมีอาการหนักเมื่อติดโควิด 19

9. ผู้ป่วยโรคหัวใจ

ไวรัสก่อโรคโควิด 19 มีผลต่อการทำงานของหัวใจ และการติดเชื้อไวรัสก็อาจทำให้มีออกซิเจนในเลือดต่ำ มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันสูงขึ้น ทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจเสี่ยงหัวใจวาย หรือเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวง่ายขึ้น ดังนั้น ผู้ป่วยโรคหัวใจก็จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ติดโควิดแล้วอาการอาจหนักถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย

10. ผู้ป่วยโรคตับ

          ไม่ว่าจะเป็นโรคตับแข็ง ตับอักเสบ มะเร็งตับ หรือผู้ที่เปลี่ยนถ่ายตับและต้องกินยากดภูมิคุ้มกัน หากติดโควิด 19 อาการอาจหนักได้ และยาที่ใช้รักษาโรคก็อาจมีผลกระทบต่อการทำงานของตับ ดังนั้นจึงควรดูแลตัวเองให้ดี อย่าให้ติดโควิด 19

11. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

          เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ป่วยโรค SLE ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอยู่แล้ว เมื่อติดเชื้อโคโรนาไวรัสก็อาจต่อกรกับโควิด 19 ไม่ไหว เสี่ยงจะมีอาการทรุดหนัก มีภาวะแทรกซ้อนจนเสียชีวิตได้

12. ผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน

          ผู้ป่วยหลายโรคจำเป็นต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยที่ใช้ยาสเตียรอยด์รักษาเป็นเวลานาน ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ ง่าย และถ้าติดก็มักจะมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป

13. บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานประจำ

          ต้องยอมรับว่าบุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติงานในช่วงโควิดอย่างหนักและเหนื่อยมาก บางคนแทบไม่ได้พัก ซึ่งอาจทำให้ร่างกายตกอยู่ในภาวะภูมิคุ้มกันไม่สมบูรณ์ ประกอบกับอยู่ด่านหน้าเผชิญเชื้อไวรัสอย่างใกล้ชิด โอกาสติดโควิดแล้วมีอาการรุนแรงก็จะสูงไปด้วย

 

ที่มา https://covid-19.kapook.com/view236002.html