เราจะรู้อยู่แล้วว่าการกินมากๆ
โดยเฉพาะพวกอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการเหล่านั้น มันทำให้อ้วนได้ง่ายมาก
ซึ่งภาวะอ้วนนี้ก็ยังไปเพิ่มความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคต่างๆ มากขึ้นอีก
ถึงหลายคนจะรู้สึกผิดที่เอานู่นเอานี่ใส่เข้าไปในท้อง แต่ความรู้สึกผิดก็สู้ความรู้สึกอยากไม่ได้
เมื่อเรารู้สึกเบื่อ ทำไมเราถึงเอาแต่กิน
หลักการวิทยาศาสตร์อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่าเป็นภาวะว่างเปล่าทางอารมณ์
หรือความรู้สึกในด้านลบ โดยที่มนุษย์ไม่มีวิธีเติมเต็มความว่างเปล่าแบบอื่น
เพราะอารมณ์ในช่วงนั้นเป็นแบบที่เราเรียกว่า “ไม่มีอารมณ์” ไม่อยากทำอะไร
รู้สึกเรื่อยเปื่อยเฉื่อยแฉะ
การกินอาหารจึงเป็นวิธีเติมเต็มความว่างเปล่าและสร้างความรู้สึกว่าเรา “อิ่ม”
แบบชั่วคราว ซึ่งจริงๆ แล้ว “อิ่ม”
ในที่นี้เราอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าอิ่มท้องหรืออิ่มทางอารมณ์
รู้แต่แค่ว่ามันมีความสุขขึ้น
จริงๆ แล้วการกินตามอารมณ์ของมนุษย์นี้มีมาตั้งแต่มนุษย์ยุคถ้ำแล้ว
ตามวิวัฒนาการของมนุษย์ เมื่อมนุษย์มีความเครียดหรือสภาพจิตใจผิดปกติไปจากเดิม
(ซึ่งในยุคนั้นมักจะเป็นเรื่องของภาวะอันตรายในธรรมชาติ เช่น
การขาดอาหารหรือถูกล่า) สัญชาตญาณที่รับรู้ได้ถึงอันตรายเหล่านั้น
อารมณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ร่างกายรู้สึกว่าต้องการพลังงานในการเอาตัวรอด
ดังนั้นจึงไม่ใช่กินอะไรก็ได้
แต่ภาพอาหารที่อยู่ในหัวคือพวกอาหารที่ให้พลังงานสูงๆ แทบทั้งสิ้น
เมื่อภาวะความเครียดเริ่มผ่อนคลายลง
พลังงานที่หมดไปจากการหนีเอาตัวรอด
ก็ทำให้ร่างกายมีปฏิกิริยาที่จะตุนพลังงานแบบนี้ไว้ใช้อีกเผื่อภัยร้ายมาเยือนในวันข้างหน้าจะได้มีเรี่ยวแรงในการเอาตัวรอด
แต่พอมาถึงปัจจุบัน
ในวันที่มนุษย์ไม่ต้องล่าสัตว์ ไม่ต้องอยู่ถ้ำ รู้จักการอยู่กันแบบสังคม ปัจจัยทางสังคมเหล่านี้ก็เข้ามามีบทบาทต่อสภาวะทางจิตใจแทนที่ความรู้สึกไม่ปลอดภัย
เมื่อรับรู้ได้ถึงอันตราย ระดับความเครียดจะสูงขึ้น
มีความรู้สึกสารพัดหลั่งไหลเข้ามา เบื่อ เหนื่อย (ใจ) เหงา เศร้า ซึม
ร่างกายจึงมีแนวโน้มที่ต้องการอาหารที่พลังงานค่อนข้างสูงไปชดเชย
การตอบสนองต่อความเครียดด้วยการกินนี้
เกิดในภาวะที่ร่างกายรู้สึกถึงความวิกฤติ
ร่างกายจะปล่อยฮอร์โมนคอร์ติโคโทรปินจะหลั่งออกมาจากสมองส่วนไฮโปทาลามัส
เพื่อไปกระตุ้นการปล่อยฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์จากต่อมหมวกไต
ฮอร์โมนสเตียรอยด์เหล่านี้จะเพิ่มความอยากอาหาร จากนั้นเราก็จะกินตามความอยากนั้นเพื่อเป็นกลไกในการรับมือความเครียดหรืออารมณ์ที่เกิดขึ้น
กินเพราะหิวหรือกินเพราะเบื่อ
หลายคนอาจมีคำถามว่าแล้วจะแยกออกได้อย่างไรว่าที่กำลังกินอยู่นี้กินเพราะหิวหรือกินเพราะจิตใจแปรปรวน
การสังเกตไม่มีอะไรมาก ถ้าเป็นการอยากกินเพราะอารมณ์
มันจะเป็นความรู้สึกที่อยากกินแบบปุบปับ รุนแรง อยากกินต้องได้กิน
ได้กินเดี๋ยวนั้น ส่วนมากมักจะเป็นอาหารแค่อย่างเดียวหรือสองอย่างที่เราอยากกิน
อยากกินแค่อย่างนี้ในปริมาณที่มากๆ เช่น อยากดื่มน้ำอัดลมทั้งที่ปกติไม่ค่อยดื่ม
และดื่มแก้วเดียวก็ไม่สะใจ หรืออยากกินมันฝรั่งทอด ก็กินได้เรื่อยๆ กินแบบไม่หยุด
หมดแล้วไม่พอต้องมีมาเติม ซึ่งไม่ใช่การกินอาหารได้หลากหลายแบบเวลาที่หิว
และแน่นอนว่าเมื่อร่างกายคลายความเครียดลง
เราเริ่มรู้ตัวว่ากินมากเกินไปแล้ว ความรู้สึกผิดก็เริ่มก่อตัวขึ้นมา
“ฉันไม่น่ากินเข้าไปเลย” หรือไม่ก็ “ฉันน่าจะกินอันนั้นมากกว่าสิ น่าจะดีกว่า”
แต่การตามใจปากเพราะอารมณ์นี้มันไม่สามารถยุติได้ด้วยความอิ่ม
เรากินด้วยความรู้สึกที่อย่างไรก็ไม่อิ่มเสียที
ซึ่งถ้าอยากจะหยุดหรือให้ปัญหานี้ดีขึ้น จำเป็นต้องไปจัดการที่ต้นเหตุ
จัดการอย่างไร
เมื่อเรารู้สึกอยากกินเพราะอารมณ์ด้านลบที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองอยู่ในภาวะไม่ปลอดภัย
ก็ต้องกำจัดอารมณ์เหล่านั้นก่อน ด้วยการหาวิธีผ่อนคลายความเครียด
ซึ่งก็มีมากมายหลายวิธี อยู่ที่ว่าวิธีไหนจะเหมาะกับตัวเองด้วย แต่ถ้าอยากกินจริงๆ
ห้ามใจไม่ให้ไม่กินไม่ได้ แต่พอจะห้ามใจให้ไปกินอาหารที่มีประโยชน์กว่ามาทดแทนได้
อย่างไรก็ดี
มีโอกาสที่อยู่สูงมากเช่นกันที่เราจะซื้อแต่อาหารที่ไม่มีประโยชน์เหล่านั้นมาตุน
เพราะฉะนั้น การไม่ไปเดินห้าง เดินตลาดเวลาที่ตัวเองกำลังรู้สึกเบื่อจัดๆ
ก็พอจะช่วยได้ แล้วเลือกซื้ออาหารที่มีประโยชน์กว่าเข้าบ้านแทน เวลาหน้ามืดตามัว
มีอาการอยากกินตามอารมณ์แล้วต้องกินให้ได้ จะได้มีแค่ของมีประโยชน์ให้กิน
ถ้าเรื่องมากไม่อยากกินก็คือไม่ได้กิน
อย่างไรก็ดี
ถ้ามีอาการนี้บ่อยจนเกินไป
หรือเมื่อใดก็ตามที่เริ่มรู้สึกว่าควบคุมความรู้สึกอยากอาหารเวลาที่อารมณ์แปรปรวนแบบนี้มันยากขึ้นทุกที
จำเป็นต้องไปพบแพทย์
เพราะมันอาจจะไม่ใช่ความรู้สึกเบื่อเหงาเศร้าซึมชั่วครั้งชั่วคราวเวลาที่ร่างกายมีความเครียด
แต่อาจเป็นความผิดปกติทางด้านจิตใจที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา เช่น
อาการแรกเริ่มของโรคซึมเศร้า หรือโรคไบโพลาร์
แพทย์อาจแนะนำให้ไปปรึกษาจิตแพทย์
เพื่อช่วยจัดการกับความรู้สึกด้านจิตใจเพื่อหยุดการกินตามอารมณ์
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :Healthline,สถาบันนวัตกรรมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้
มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพ :iStock