เเนะยึดหลัก สุก ร้อน สะอาด ลดเสี่ยงอาหารเป็นพิษ

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ห่วงโรคอาหารเป็นพิษ ปีนี้พบเกิดเหตุการณ์ป่วยหมู่ 2 เหตุการณ์ ล่าสุดที่ จ.น่าน มีผู้ป่วย 130 ราย  มักพบในอาหารที่ปรุงมานานหลายชั่วโมงและทำคราวละมากๆ อาทิ เมนูข้าวกล่อง แนะวิธีลดความเสี่ยงและป้องกันการป่วย  ขอให้ประชาชนยึดหลัก สุก ร้อน สะอาด

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้เฝ้าระวังการป่วยจากโรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งโรคนี้มักจะเกิดขึ้นจากการกินอาหารร่วมกันของคนจำนวนมาก และมีอาการเจ็บป่วยในเวลาไล่เลี่ยกัน ในปีนี้ได้รับรายงานเกิด 2 เหตุการณ์ ได้แก่ อ.ภูซาน จ.พะเยา เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2564 พบผู้ป่วยทั้งหมด 200 ราย และครั้งล่าสุดที่ อ.ภูเพียง จ.น่าน เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 กรมควบคุมโรคได้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 จ.เชียงใหม่ ควบคุมป้องกันโรคร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน และโรงพยาบาลส่งเสริมตำบลในพื้นที่ พบผู้ป่วยทั้งหมด 130 ราย ในจำนวนนี้อาการรุนแรงต้องรักษาในโรงพยาบาลน่าน  30 ราย ที่เหลืออาการป่วยไม่มาก  

พบสาเหตุเกิดมาจากรับประทานอาหารชนิดเดียวกัน คือ ข้าวขาหมู บรรจุในกล่องพลาสติก ที่ได้รับแจกมาจากในงานฌาปณกิจศพ หลังรับประทานมีอาการท้องเสีย อาเจียน ไข้ หนาวสั่น ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการตัวอย่างอาหาร พบเชื้อแบคทีเรียก่อโรค 2 ชนิด คือ เชื้อสแตปออเรียส (S. aureus) พบในน้ำจิ้มและผักดอง และพบเชื้ออี.โคไล (E. coli) ในไข่และในอาเจียนของผู้ป่วย รักษาหายทุกคน ไม่มีผู้เสียชีวิต

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคอาหารเป็นพิษ  เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิและสารพิษทั้งจากพืช สัตว์ สารเคมี หรือโลหะหนัก ภายในระยะเวลาอย่างน้อย 2-6 ชั่วโมง หรือ 2-3 วัน ผู้ที่ป่วยมักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำหรือมีมูกเลือด ปวดมวนท้องถ่าย ปวดศีรษะ คอแห้งกระหายน้ำ อาจมีไข้ร่วมด้วย ความรุนแรงขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่รับเข้าไป หากเกิดในผู้สูงอายุ อาจทำให้ขาดน้ำถึงขั้นช็อคหมดสติได้ การช่วยเหลือเบื้องต้น ให้ผู้ป่วยดื่มสารละลายผงเกลือแร่ (ORS) ทีละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที ซึ่ง ORS ประชาชนสามารถเตรียมเองได้ง่ายๆ โดยเติมน้ำตาลทราย 6 ช้อนชา  และ เกลือครึ่งช้อนชา ผสมกับน้ำสะอาด 1 ลิตร (1,000 ซีซี)

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า วิธีการลดความเสี่ยงป่วยและป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ ขอให้ประชาชน ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่รับประทานอาหารดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ อาหารที่เก็บไว้นาน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง เลือกบริโภคอาหาร น้ำและน้ำดื่มที่สะอาดมีเครื่องหมาย อย. ล้างมือด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรกทุกครั้ง 

ผู้ปรุงอาหารต้องล้างมือให้สะอาดก่อนปรุงประกอบอาหารทุกครั้ง หากมีบาดแผลที่มือควรเลี่ยงการสัมผัสอาหารหรือควรสวมถุงมือทุกครั้ง อาหารกล่องควรแยกกับและข้าวออกจากกัน ให้ระวังเรื่องการจัดเตรียมอาหารเป็นพิเศษในกรณีที่มีการประกอบอาหารจำนวนมาก ผู้ปรุงและผู้สัมผัสอาหารควรใส่หน้ากากอนามัย สวมถุงมือและเลือกซื้อวัตถุดิบที่สดสะอาดและมีคุณภาพ รวมทั้งไม่ทำข้าวกล่องประเภทรายการอาหารที่เกิดการบูดเสียง่าย เช่น ข้าวมันไก่  ข้าวขาหมู  ขนมจีน เป็นต้น

ส่วนผู้บริโภค ให้เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ อาหารที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง ไม่ควรทานอาหารที่มีกลิ่นผิดปกติ  ควรล้างผักและผลไม้ก่อนนำมารับประทานทุกครั้ง บริโภคน้ำดื่มและน้ำแข็งที่สะอาดได้มาตรฐานผ่าน อย. และล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำทุกครั้ง

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ขอให้หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการชุมนุมกันมากๆ เช่น งานสังสรรค์รับประทานอาหาร หรืองานบุญต่างๆ และเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน อาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงติดเชื้อโควิดได้ สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

ขอบคุณที่มา : https://www.thaihealth.or.th/