การทำความสะอาดอุปกรณ์การทำอาหารที่ไม่สะอาดดีพอ
โดยเฉพาะในอุปกรณ์การทำอาหารที่ทำมาจากวัสดุประเภทไม้ ไม่ว่าจะเป็น ตะเกียบ
เสื่อพันข้าวที่ใช้ในการม้วนซูชิ หรือเขียง จะทำให้เกิดเชื้อราที่ผลิตสารอะฟลาทอกซิน
ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งตับ ซึ่งถ้าหากได้รับการบริโภคเชื้อรา
และสารอะฟลาทอกซินบ่อยๆ จะทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น
ควรรู้วิธีป้องกันอันตรายจากเชื้อราในอุปกรณ์การทำอาหาร
เชื้อราในอุปกรณ์การทำอาหาร
เชื้อรา คือ
จุลินทรีย์ชนิดหนึ่งที่ไม่มีคลอโรฟิลล์ จึงทำให้ไม่สามารถสังเคราะห์แสง
หรือสร้างอาหารเองได้ จัดอยู่ในจำพวกเห็ดรา สามารถเจริญเติบโตในความชื้น
โดยการใช้สปอร์ เป็นตัวขยายพันธุ์ หากร่างกายได้รับสปอร์จากการสูดดม
จากการถูกปล่อยในอากาศจำนวนมาก จะส่งผลกระทบต่อร่างกาย เชื้อราจะมีสีต่างๆ เช่น
สีดำ สีส้ม สีขาว และสีม่วง
ดังนั้นอุปกรณ์การทำอาหารที่ทำมาจากวัสดุประเภทไม้ หากใช้ไปนานๆ
หรือได้รับการทำความสะอาด และไม่ได้รับการผึ่งตากแดดให้แห้งสนิท จะเกิดเชื้อรา
ที่ผลิตอะฟลาทอกซินได้ อีกทั้งยังสามารถเกิดเชื้อราได้หลายชนิด เช่น Penicillium
Aspergillus และ Alternaria ซึ่งสามารถสังเกตเห็นจุดเล็กๆ
สีดำ ในอุปกรณ์การทำอาหารที่ทำมาจากวัสดุประเภทไม้ได้
อันตรายจากสารอะฟลาทอกซินที่เกิดจากเชื้อราในอุปกรณ์การทำอาหาร
อย่างที่ทราบกันดีว่าสารอะฟลาทอกซินเกิดจากวัตถุดิบอาหารที่เก็บรักษาอย่างไม่เหมาะสม
เช่น ถั่วลิสงบด ข้าวโพด และมันสำปะหลัง เป็นต้น
อุปกรณ์การทำอาหารที่ทำมาจากวัสดุประเภทไม้ ที่ไม่สะอาดก็เป็นแหล่งสะสมของเชื้อรา
ซึ่งทำให้เกิดสารอะฟลาทอกซิน ส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ เช่น
- ตับอักเสบ
- มะเร็งตับ
- ผลกระทบสำหรับเด็ก คือ การเจริญเติบโตช้า
พัฒนาการทางสมองช้า และพิการแต่กำเนิด
กำจัดเชื้อราในอุปกรณ์การทำอาหารด้วยน้ำส้มสายชู
- 1. เตรียมอุปกรณ์
ป้องกันน้ำส้มสายชู เช่น สวมถุงมือ แว่นตาป้องกัน และหน้ากากอนามัย
- 2. ใช้น้ำส้มสายชู 5%
- 7% ใส่ในขวดสเปรย์ หรือชุบน้ำพอหมาดๆ
เช็ดกับอุปกรณ์การทำอาหาร
- 3. ทิ้งไว้ให้แห้งสนิท ประมาณ
1 ชั่วโมง
- 4. ใช้แปรงสีฟันชุบน้ำอุ่น
แล้วขัดอุปกรณ์การทำอาหารออก
- 5. ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดอีก 1
ครั้ง รอให้แห้งสนิท
วิธีป้องกันเชื้อราในอุปกรณ์การทำอาหาร
- 1. ล้างทำความสะอาดอุปกรณ์การทำอาหารที่ทำมาจากวัสดุประเภทไม้
ด้วยน้ำสะอาด หลายๆ ครั้ง
- 2. นำอุปกรณ์การทำอาหารที่ทำมาจากวัสดุประเภทไม้ที่ล้างด้วยน้ำสะอาดแล้ว
ไปผึ่งกับแดด ให้แห้งสนิท โดยปราศจากความชื้น
- 3. สังเกตอุปกรณ์การทำอาหารที่ทำมาจากวัสดุประเภทไม้
ว่ามีเชื้อราอยู่หรือไม่ หากพบเจอจุดสีดำเล็กๆ ควรนำไปทิ้ง
และไม่ควรนำกลับมาใช้ใหม่
- 4. ตะเกียบไม้ไผ่ประเภทที่ใช้สำหรับครั้งเดียว
เมื่อใช้แล้ว ไม่ควรนำกลับมาล้าง เพื่อใช้ซ้ำ
- 5. หากเป็นตะเกียบประเภทอื่นๆ
ที่สามารถล้าง และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น ตะเกียบพลาสติก
ควรเปลี่ยนตะเกียบใหม่ทุกๆ 3-6 เดือน
นอกจากการทำความสะอาดอุปกรณ์การทำอาหารที่ทำมาจากวัสดุประเภทไม้ให้สะอาดแล้ว
การสังเกตอุปกรณ์ เมื่อไปรับประทานอาหารที่ร้าน เช่น ตะเกียบไม้ ว่ามีเชื้อราจุดสีดำ
เล็กๆ ติดอยู่หรือไม่ จะช่วยในการป้องกันเชื้อรา และสารอะฟลาทอกซิน
เข้าสู่ร่างกายได้ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งตับ และโรคตับอื่นๆ ได้
ขอขอบคุณแหล่งที่มา
: https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/dangers-of-mold-in-cooking-utensils-with-protection-methods