แม้ว่าทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้านแล้ว
แต่หากผิวเผชิญกับแดดแรงเป็นเวลานานก็อาจทำให้ผิวไหม้แดดได้
โดยผิวบริเวณที่สัมผัสแสงแดดจะค่อย ๆ เป็นรอยไหม้หลังอยู่กลางแดดที่ร้อนจ้านานกว่า
15 นาที อย่างไรก็ตาม ปัญหาผิวไหม้แดดมีทางออกและวิธีการมากมายที่ช่วยดูแลและฟื้นฟูสภาพผิวที่ไหม้เสียให้กลับมามีสุขภาพดีได้
ซึ่งสามารถศึกษาได้จากข้อมูลต่อไปนี้
เทคนิครักษาผิวไหม้แดดด้วยตนเอง
· ทาผิวด้วยว่านหางจระเข้
จากงานวิจัยพบว่าเนื้อวุ้นใสในว่านหางจระเข้ช่วยรักษาโรคสะเก็ดเงิน
โรคผิวหนังอักเสบ ผิวแห้งแตก ผิวถลอก
และช่วยบรรเทาอาการผิวไหม้แดดที่ไม่รุนแรงมากได้ เพราะว่านหางจระเข้มีกรดซาลิซิลิก
คอยยับยั้งแบคทีเรีย และช่วยผลัดเซลล์ผิวหนังใหม่
อีกทั้งยังมีสารช่วยปกป้องและสมานผิวอื่น ๆ อีกมากมาย
โดยควรใช้เนื้อว่านหางจระเข้จากธรรมชาติ หรือเจลที่มีส่วนผสมของว่านหางจระเข้ 100%
ไม่ผสมสี กลิ่น สารเคมี และน้ำหอม
ทาลงบนผิวไหม้แดดเพื่อลดอาการอักเสบจากการถูกแดดเผา
เพิ่มความชุ่มชื้นบริเวณเนื้อเยื่อของแผล
อาจช่วยบรรเทาความเจ็บปวดในบริเวณที่เกิดการไหม้
หากต้องการให้ผิวหายได้อย่างรวดเร็ว อาจเลือกใช้เจลว่านหางจระเข้ 100%
ในรูปแบบสเปรย์
เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณที่เกิดอาการและป้องกันผิวลอกเพิ่มมากขึ้น
· บำรุงผิวให้ชุ่มชื้น
ควรใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ให้ความชุ่มชื้นเพื่อป้องกันไม่ให้ผิวลอก
โดยเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับผิวแพ้ง่ายทาลงบนผิวบริเวณที่ไหม้หลังอาบน้ำ
ซึ่งครีมบำรุงผิวจะช่วยกักเก็บความชุ่มชื้น ลดอาการระคายเคือง
และฟื้นฟูให้ผิวไหม้แดดหายเร็วขึ้น
· ประคบผิวด้วยชาดอกคาโมมายล์
นอกจากจะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายแล้ว
ชาดอกคาโมมายล์ยังมีสรรพคุณช่วยบรรเทาผิวไหม้แดดได้อีกด้วย
โดยแช่ผงชาในน้ำร้อนแล้วทิ้งไว้ให้เย็น จากนั้นใช้ผ้าขนหนูสะอาดจุ่มลงในน้ำชา
นำผ้านั้นมาประคบผิวบริเวณที่ไหม้ แต่ผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้ไม่ควรรักษาด้วยวิธีนี้
เพราะอาจทำให้ผิวเกิดอาการแพ้ได้
· แช่น้ำเย็น
การใช้น้ำเย็นช่วยลดอาการอักเสบจากการสัมผัสแดดเป็นเวลานานได้
โดยอาจลองแช่ตัวในน้ำทะเลขณะพักผ่อนริมชายหาด แช่ตัวในอ่างอาบน้ำ
หรือแช่ตัวในสระว่ายน้ำเพื่อบรรเทาอาการผิวไหม้แดด
แต่ควรหลีกเลี่ยงสระว่ายน้ำที่มีสารคลอรีน
เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคืองและเกิดการอักเสบมากกว่าเดิมได้ นอกจากนี้
ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำแข็งประคบลงบนผิวบริเวณที่ไหม้แดด เนื่องจากความเย็นของน้ำแข็งจะทำลายผิวจนทำให้ผิวเสียมากขึ้น
· แช่ตัวในน้ำที่ผสมสารบำรุงผิว
การแช่ตัวในอ่างอาบน้ำที่ผสมด้วยเบกกิ้งโซดา 2-3 ช้อนโต๊ะ หรือข้าวโอ๊ต 1 ถ้วย
เป็นเวลา 15-20 นาที จะช่วยบรรเทาและฟื้นฟูผิวไหม้แดดได้
หลังขึ้นจากน้ำควรซับผิวให้แห้งเบา ๆ ด้วยผ้าขนหนูสะอาด
และไม่ควรใช้เบกกิ้งโซดาหรือข้าวโอ๊ตขัดผิวโดยตรง
เพราะอาจทำให้ผิวอักเสบและมีอาการแย่ลงได้ นอกจากนี้
มีงานวิจัยที่พบว่าการเจือจางน้ำส้มสายชูในอ่างอาบน้ำช่วยบรรเทาอาการแสบจากผิวไหม้แดดได้
แต่อีกงานวิจัยหนึ่งกลับระบุว่า น้ำส้มสายชูอาจทำให้อาการผิวไหม้แดดแย่ลงได้เนื่องจากน้ำส้มสายชูมีฤทธิ์เป็นกรด
ดังนั้น หากไม่เคยใช้น้ำส้มสายชูกับแผลที่มีขนาดเล็กและไม่รุนแรงมาก่อน
ควรหลีกเลี่ยงการรักษาผิวไหม้แดดที่มีขนาดใหญ่และมีความรุนแรงมากด้วยวิธีนี้
· ดื่มน้ำมาก ๆ
ผิวต้องการความชุ่มชื้นเพื่อซ่อมแซมและฟื้นฟูตนเอง ดังนั้น
ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
เพื่อให้เพียงพอต่อการทำงานของร่างกายและการฟื้นฟูสภาพผิว นอกจากนี้
ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มบางประเภท เช่น โซดา กาแฟ
และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้อาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำได้
· สวมเสื้อผ้าหลวม ๆ
ขณะที่เซลล์ผิวกำลังซ่อมแซมตัวเองหลังไหม้แดด ควรใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ
ที่ไม่รัดติดผิวมากเกินไป
เพื่อให้ผิวหนังได้ฟื้นฟูสภาพผิวเต็มที่และไม่เกิดการระคายเคืองจากการเสียดสี
ซึ่งวัสดุจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น เส้นใยฝ้ายหรือใยไผ่ จะช่วยป้องกันการระคายเคืองของผิวหนังบริเวณที่ไหม้แดดได้
· ห้ามเจาะตุ่มน้ำบนผิว
ตุ่มน้ำที่เกิดขึ้นจากผิวไหม้แดดจะทำหน้าที่คล้ายพลาสเตอร์ยา
โดยจะช่วยป้องกันผิวด้านล่างไม่ให้เกิดการระคายเคือง ดังนั้น
ควรปล่อยให้ตุ่มน้ำแตกออกเองตามธรรมชาติ หากผิวหนังที่พองออกนั้นฉีกขาด
ให้ใช้ปิโตรเลียมเจลลี่ทาลงบนผิวบริเวณนั้น 2-3 ครั้ง/วัน เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น
แล้วปิดผิวด้วยพลาสเตอร์ อย่างไรก็ตาม
ตุ่มน้ำจากผิวไหม้แดดอาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา
ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของเซลล์เม็ดสีเมลานิน ดังนั้น
ควรแจ้งให้แพทย์ผิวหนังทราบหากเคยมีตุ่มน้ำพองขึ้นหลังการออกแดด
และควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหามะเร็งผิวหนังเป็นประจำทุกปี
· หลีกเลี่ยงการออกแดดจนกว่าผิวจะหายดี
เนื่องจากผิวไหม้แดดจะไวต่อแสง ซึ่งทำให้ผิวบอบบางและเกิดการระคายเคืองได้ง่าย
ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการออกแดกขณะมีผิวไหม้แดด หากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้งควรทาครีมกันแดดก่อนออกแดดเสมอ
และสวมใส่เสื้อผ้าที่สามารถป้องกันแสงแดดได้ดี นอกจากนี้
อาจทาผิวด้วยว่านหางจระเข้ 100%
หลังจากออกแดด
โดยพิจารณาเลือกใช้แบบสเปรย์เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสผิวโดยตรง
ผิวไหม้แดดใช้เวลารักษาฟื้นฟูนานเท่าไร
?
ระยะเวลาที่ผิวไหม้แดดจะหายกลับมาเป็นปกตินั้นขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการด้วย
ดังนี้
· ผิวไหม้แดดที่ไม่รุนแรง
จะมีอาการปวดและแดงเป็นเวลา 3-5 วัน และอาจมีผิวลอกในช่วงวันสุดท้าย
เนื่องจากมีการผลัดเซลล์ผิวเพื่อสร้างเซลล์ผิวใหม่ขึ้นมาทดแทน
· ผิวไหม้แดดที่รุนแรงปานกลาง จะมีอาการเจ็บหรือรู้สึกปวดมากกว่าปกติ
โดยผิวหนังจะบวมแดงและรู้สึกแสบร้อนเมื่อสัมผัสโดน
โดยปกติแล้วผิวไหม้แดดระดับนี้จะใช้เวลาประมาณ 1
สัปดาห์ในการฟื้นฟูให้ผิวกลับมามีสภาพปกติ
และผิวอาจลอกออกหลังจากหายเป็นปกติแล้วประมาณ 2-3 วัน
· ผิวไหม้แดดที่รุนแรงมาก
ผิวบริเวณที่สัมผัสกับแดดจะมีอาการแดงมากและมีตุ่มน้ำที่รู้สึกแสบร้อนเกิดขึ้น
โดยผู้ที่มีผิวไหม้แดดระดับรุนแรงอาจต้องไปพบแพทย์เพื่อพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือนอนพักรักษาตัวที่บ้าน
ซึ่งอาจต้องใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์จนกว่าสภาพผิวจะฟื้นฟูเป็นปกติ
อาการผิวไหม้แดดแบบใดที่ควรไปพบแพทย์
?
หากผิวไหม้แดดมีอาการรุนแรงมาก
หรือมีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้เกิดขึ้นร่วมด้วย
ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาทันที
· รู้สึกเจ็บปวด
และมีผิวหนังพุพองอย่างรุนแรง
· มีไข้
· หนาวสั่น
· หน้าบวม
· เวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลม
· ปวดศีรษะ
· สับสน มึนงง
· ปวดท้อง
· เกิดภาวะขาดน้ำ
ผิวไหม้แดด
ป้องกันได้อย่างไร ?
เคล็ดลับเหล่านี้อาจช่วยป้องกันผิวไหม้และคล้ำเสียจากแดดได้
· ทาหรือใช้สเปรย์เจลว่านหางจระเข้ ทั้งก่อนและหลังเผชิญแสงแดดทันที
เพื่อปลอบประโลมผิวกายและป้องกันผิวไหม้
รวมไปถึงช่วยปรับผิวให้เนียนชุ่มชื่นไม่แห้งเกินไป ทั้งยังอาจช่วยเติมน้ำให้แก่ผิวอีกด้วย
· ทาครีมกันแดด
ควรเลือกใช้ครีมกันแดดที่มีค่าป้องกันแสงแดด (SPF) ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป
และสามารถป้องกันได้ทั้งรังสียูวีเอ (UVA) และยูวีบี (UVB)
โดยทาครีมกันแดดก่อนออกแดด 30 นาที
และควรใช้ครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอแม้ในวันที่ไม่มีแดด นอกจากนี้
ควรทาครีมกันแดดซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง หรือบ่อยขึ้นหากต้องว่ายน้ำและมีเหงื่อออกมาก
· แต่งกายมิดชิด ปกป้องผิวจากแดด
เมื่อต้องออกแดด
ควรป้องกันผิวสัมผัสแดดแรงด้วยการใส่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ปกปิดผิว เช่น
หมวกปีกกว้าง เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และแว่นตากันแดดที่สามารถป้องกันรังสียูวีจากแดดได้
· เลือกช่วงเวลาในการออกแดด
แสงแดดช่วงเวลา 10 โมงเช้าไปจนถึง 4 โมงเย็น เป็นช่วงเวลาที่มีแดดแรง ดังนั้น
ควรหลีกเลี่ยงการออกแดดในช่วงเวลาดังกล่าว หรือหากจำเป็นต้องออกไปข้างนอก
ควรเดินในที่ร่มและทาครีมกันแดดทุกครั้ง
ที่มา
https://www.pobpad.com/ผิวไหม้แดด-กับวิธีฟื้นฟู