Rohypnol
(โรฮิปนอล) หรือยาลิ้นฟ้า คืออะไร?
Rohypnol (โรฮิปนอล)
เป็นชื่อการค้าของยานอนหลับโดยบริษัทยา Roche ซึ่งเป็นผู้คิดค้น และผลิตเป็นเจ้าแรก
โดยเริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่ปี ค.ศ.1975
ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยชื่อสามัญของยาตัวนี้คือ Flunitrazepam ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม Benzodiazepines (BZD) โดยมียาในกลุ่มเดียวกันนี้ที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
ได้แก่ Alprazolam (Xanax®), Clonazepam, Diazepam (Valium®), Lorazepam เป็นต้น
โรฮิปนอลเป็นยานอนหลับที่มีฤทธิ์เร็ว แรง
และออกฤทธิ์ยาวนาน (มากกว่าระยะการนอนหลับในหนึ่งคืน) ทำให้เกิดผลข้างเคียงคือ
มีอาการง่วงซึมในช่วงเวลากลางวัน และเพิ่มความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ
โดยพบว่าโรฮิปนอลเป็นยานอนหลับที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงที่สุด
เมื่อเทียบกับยาตัวอื่นซึ่งเป็นยานอนหลับด้วยกัน
นอกจากนั้นโรฮิปนอลยังมีผลต่อความทรงจำ
จึงทำให้มีการออกข้อกำหนดให้มีการจำกัดยาใช้อย่างเคร่งครัด
อันตรายจากการใช้ยา
Rohypnol
ยาโรฮิปนอลควรใช้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ
ตามแพทย์สั่งเท่านั้น เพราะการใช้ติดต่อกันเกิน 1 เดือน จะทำให้เกิดการติดยา
และหากใช้ในระยะยาวนอกจากการติดยา และอาการถอนยาที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้แล้ว
ยังอาจมีผลกระทบต่อความสามารถในการเรียนรู้และสมรรถภาพการรู้คิด
และหากได้รับยาเกินขนาด จะทำให้กดการหายใจและทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้
ผลข้างเคียงที่สำคัญของโรฮิปนอลคือ
เมื่อหยุดยาอาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับที่แย่ลงกว่าเดิมได้ (rebound
insomnia)
ทำไมกินแล้วลิ้นมีสีฟ้า?
เนื่องจากยาโรฮิปนอล มีฤทธิ์เป็นยานอนหลับที่แรง
และมีผลต่อความทรงจำ และสร้างอันตรายต่อสังคมโดยรวมเป็นอย่างมาก
ผู้ผลิตจึงคิดค้นวิธีป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยการใส่สีฟ้าไว้ภายในเม็ดยา
ทำให้เมื่อยาละลายในเครื่องดื่มจะเกิดสีฟ้าให้เห็นและสังเกตได้
ดังนั้นจากข่าวจึงพบว่าเมื่อวัยรุ่นนำมาใช้เสพด้วยการอมไว้ในปาก
ทำให้สีที่ละลายออกมาย้อมติดที่ลิ้น เห็นเป็นลิ้นสีฟ้า
และด้วยความกังวลต่อการนำไปใช้ก่ออาชญากรรมและความปลอดภัยของสังคม
การผลิต ขาย
หรือใช้ยาตัวนี้ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายในประเทศสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในยุโรป
เช่น สเปน ฝรั่งเศส นอร์เวย์ เยอรมนี และสหราชอาณาจักร เป็นต้น
ส่วนในประเทศที่ยังอนุญาตให้มีการใช้ในทางการแพทย์ ข้อบ่งใช้ของยาตัวนี้ก็มีเหลือไม่มากนัก
ดังที่กล่าวไปข้างต้น
ขอขอบคุณแหล่งที่มา: https://www.praram9.com/rohypnol-drug